ปัญหารถติดในกรุงเทพมหานครและหัวเมืองใหญ่ ๆ ทั่วโลกเป็นเรื่องที่ทำให้หลายคนต้องกุมขมับเพราะคิดหาทาง แก้ไม่ตก และยังต้องจำใจทนกับการติดอยู่บนท้องถนนเป็นเวลาหลายชั่วโมง เมืองที่การจราจรคับคั่งจึงไม่ค่อยเป็น ที่ปรารถนาของใคร ๆ นัก แต่เดี๋ยวก่อน ! รถราวิ่งกันวุ่นวายใช่ว่าจะมีแต่เรื่องเลวร้ายเสมอไป เพราะเราสามารถพลิก วิกฤตให้เป็นโอกาสด้วยการเปลี่ยนสภาพท้องถนนที่คลาคล่ำไปด้วยรถยนต์เป็นโรงผลิตไฟฟ้าให้แก่เราได้
จะมีสักกี่คนที่คิดไปถึงว่าท้องถนนซึ่งเต็มไปด้วยรถราสามารถผลิตไฟฟ้าได้ แต่วิศวกรจาก Technion-Israel Institute of Technology ประเทศอิสราเอล ทำให้เมืองที่ต้องเผชิญกับปัญหารถติดผลิตพลังงานไฟฟ้าเพื่อนำมาใช้ในชีวิต ประจำวันได้ โดยใช้หลักการสั่นสะเทือนที่เกิดจากรถจำนวนมากวิ่งผ่านบนท้องถนนและให้พลังงานออกมา แต่ปัญหาก็ คือจะนำเอาพลังงานนั้นมาใช้ได้อย่างไร ซึ่งจากการวิจัยพบว่าหากใช้วัสดุประเภท เปียโซอิเล็กทริก (Piezoelectric) ได้แก่ ผลึกแก้วและเซรามิก มาวางเรียงกันใต้ผิวยางมะตอยเพื่อทำหน้าที่รับแรงสั่นสะเทือนจากการเคลื่อนที่ผ่านของ รถยนต์แล้วนำไปแปรเปลี่ยนให้เป็นกระแสไฟฟ้าได้
วัสดุประเภทเปียโซอิเล็กทริก จัดเป็นสารจำพวกผลึกกลุ่มที่ไม่สมมาตรกัน มีคุณสมบัติสามารถเปลี่ยนพลังงานกล ไปเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ เมื่อมีแรงหรือความดันมากระทำแผ่นเปียโซอิเล็กทริกจะได้รับแรงตึงเครียดทางกลศาสตร์ (Mechanical Stress) และให้กระแสไฟฟ้าออกมา ซึ่งจากการทดลองใช้ผลึกแก้วควอตซ์ หรือ Piezoelectric Crystals มาเรียงไว้ใต้พื้นถนนให้รถวิ่งผ่านพบว่า ถนนความยาว1 กิโลเมตร ขนาด 4 ช่องจราจร สามารถผลิตกระแสไฟฟ้า ได้มากถึง 400 กิโลวัตต์
นอกจากนั้น เทคโนโลยีนี้ยังมีข้อดีตรงที่ไม่ต้องขุดเจาะทำถนนใหม่ เพราะสามารถติดตั้งแผ่นผลึกแก้ว ในช่วงการซ่อมแซมถนนได้ จึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและไม่สร้างมลพิษจากการขุดเจาะถนนใหม่ หากการทดลองนี้ ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ ประเทศอิสราเอลก็ตั้งเป้าเอาไว้ว่าจะขยายการใช้เทคโนโลยีนี้ไปยังถนนใหญ่ ๆ ที่มี ทำเลเหมาะสมทั่วประเทศเลยทีเดียวกรุงเทพฯ ของเราน่าจะลองนำเทคโนโลยีนี้มาใช้กันดูบ้าง แม้ปัญหารถติดยังแก้ไขไม่ได้ แต่การผลิตพลังงานที่เป็นผลพลอยได้นั้นถือว่าน่าสนใจไม่เบา ซึ่งไม่แน่ว่าวันหนึ่งข้างหน้าถนนสายใหญ่ ๆ ในบ้านเราอาจจะกลายเป็นโรงไฟฟ้าขึ้นมาในสักวัน
ที่มา : วารสารนโยบายพลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน