ปี 2561 นี้ ต้องถือว่าเป็นปีที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติมากเป็นพิเศษอีกปีหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นปรากฏการณ์แผ่นดินไหว และน้ำท่วมซ้ำซากที่ญี่ปุ่น แผ่นดินไหวที่เกาะบาหลีของอินโดนีเซีย พายุหลายลูกถล่มสหรัฐอเมริกา ภัยพิบัติจากไฟป่า และไต้ฝุ่นหลายลูกที่ถล่มภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทย ไต้ฝุ่นที่รุนแรงสุดมีชื่อเป็นภาษาไทยคือ “มังคุด”
นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิอากาศ อธิบายว่าภัยทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในหลายทวีปทั่วโลก มีสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งจากภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของโลกปัจจุบันและมีการประชุมเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก ที่กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆนี้และล้มเหลว แต่สหประชาชาติ ซึ่งเป็นเจ้าภาพ ยังเดินหน้าจะจัดประชุมสุดยอดต่อไป ที่โปแลนด์ ในเดือนธันวาคม
การประชุมที่กรุงเทพฯที่ผ่านมา เป็นการประชุมเพื่อเตรียมการประชุมสุดยอด 24 ชาติ ที่โปแลนด์ เลขาธิการสหประชาชาติถือว่าเป็นครั้งสำคัญ เป็นโอกาสอันดีที่แสดงให้บรรดาผู้นำโลก ให้ตระหนักถึงชะตากรรมของประชาชน ซึ่งอยู่ในกำมือของบรรดาผู้นำประเทศ ขณะที่นักวิทยาศาสตร์เตือนว่าโลกมีเวลาเพียงไม่กี่ปี ที่จะปรับลดอุณหภูมิ เพื่อป้องกันความหายนะ
ภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาที่ถกเถียงกันมานาน ในหมู่นักวิทยาศาสตร์และผู้นำของโลก ชาวโลกมีความหวังมากขึ้น เมื่อคณะผู้นำนานาชาติได้บรรลุความตกลงปารีส เมื่อปี 2558 มีผลผูกพันนานาประเทศ ให้ร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อไม่ให้อุณหภูมิเพิ่มเกิน 2 องศาเซลเซียส และลดลงเหลือน้อยกว่า 1 องศา ภายในปลายศตวรรษ แต่ยังไม่บรรลุผล
ซ้ำยังมีบุรุษผู้หนึ่งก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำอภิมหาอำนาจ อันได้แก่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา ทำให้วงแตก เมื่อเขาประกาศถอนตัวจากสัญญาปารีส ทำให้การแก้ปัญหาโลกร้อนรวนเร แค่ความตกลงปารีสยังทำไม่ได้ ทั้งๆที่เป็นแค่ 1 ใน 3 ของมาตรการต่างๆ ที่จะทำให้อุณหภูมิโลกเย็นลง ผู้ที่เดือดร้อนที่สุดคือชาวโลกและเลขาธิการยูเอ็น
ปี 2561 เป็นปีที่อากาศร้อนมากที่สุดติดต่อกันเป็นปีที่ 4 เลขาธิการสหประชาชาติประกาศเตือนชาวโลกว่าหากเราไม่สามารถยับยั้งการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิได้ภายใน 20 ปี เราจะเสี่ยงต่อการพลาดโอกาส ในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศเสี่ยงต่อการเกิดผลร้ายรุนแรงต่อประชาชน และต่อระบบธรรมชาติ ที่ทำให้มวลมนุษย์ดำรงอยู่
ส่วนปัญหาที่เกี่ยวกับประเทศไทยโดยตรง คือภาวะลานินญาและเอลนินโญ นักวิชาการเตือนล่วงหน้าว่าใน 2-3 ปีข้างหน้า อาจเกิดภาวะเอลนินโญในไทย เนื่องจากความกดอากาศในพื้นที่แถบอเมริกาใต้ ฝั่งติดกับมหาสมุทรแปซิฟิก อ่อนกำลังลง เกิดฝนตกหนักในบริเวณอเมริกาใต้ ส่วนแถบออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และไทย จะมีฝนลดลงและอาจประสบภัยแล้ง.